ข้อแรก ที่เป็นกฎ ที่พวกเรายึดถือนั่นก็คือ “ห้ามติ่ง” ศิลปินหลังเวที


รักนะแต่ต้องไม่แสดงออก!! แน่นอน มันต้องมีซักคอนเสิร์ตที่มีโอกาสได้เจอกับศิลปินที่เราติ่งในสถานะที่เราเป็นคนทำงาน ความรู้สึกมันเป็นอย่างไร อธิบายง่ายๆเหมือนคนรักนะ แต่ไม่กล้าแสดงออก เขาเดินผ่านเราก็ต้องทำเฉยๆ ไม่ได้พูดคุย ไม่สบตา ไม่ได้ยิ้มให้ เวลาได้ดูพวกเขาซ้อมหรือโชว์บนเวทีตอนซ้อมก็ต้องนั่งนิ่งหรือปฏิบัติหน้าที่ไปโดยที่ไม่มีโอกาสซึมซับบรรยากาศหรือปลดปล่อยพลังติ่งในตัวเหมือนแฟนๆ ที่ซื้อบัตรมาดู

แต่หากมีเรื่องไม่ดีเกิดขึ้น เช่น ของหาย หรือมีรูปที่ไม่เหมาะสมหลุดออกไป นั่นหมายความว่าเราอาจกลายเป็นประเทศที่ติดแบล็กลิสต์ และเขาอาจไม่มาเล่นคอนเสิร์ตที่บ้านเราอีกต่อไป
ช่วงเวลาที่มนุษย์งานอย่างเราจะได้เจอได้มองเห็นศิลปินใกล้ๆ นั้นน้อยมากเพราะจะเป็นแค่การเดินผ่านในที่มืดๆ จากรถไปห้องพัก จากห้องพักถึงเวที อยากเห็นแบบใกล้ชิด ยกมือถือถ่ายรูปได้ กรี๊ดให้สุดเสียง บอกตรงๆ ซื้อบัตรคอนฯ ดีกว่ามาเป็นทีมงาน แต่สิ่งหนึ่งที่เรียนรู้จากการเป็นติ่งที่ทำงานหลังเวที คือมันมีความสุขใจ
เมื่อทำงานในวงการนี้นานๆ ความเป็นมืออาชีพจะสอนให้รู้ว่า Privacy หรือความเป็นส่วนตัวของศิลปิน คือความรักรูปแบบนึงที่เราสามารถมอบให้กับพวกเขาได้เช่นกัน

เก็บตกหลังเวทีที่หลายคนอาจไม่รู้
- การซาวน์เช็คคอนเสิร์ตฝรั่งเกือบทั้งหมดไม่มีการซ้อม เค้าเป๊ะมาแล้ว อย่างมากก็มีซาวน์เช็ค 3-4 เพลง ซึ่งศิลปินอาจมาหรือไม่มาก็ได้ และบางครั้งก็จะไม่อนุญาตให้ทีมงานอื่นที่ไม่ใช่ของศิลปินอยู่ในฮอลล์ด้วย
- บัตร Staff แบบ All Area ก็ไม่ได้แปลว่าจะไปอยู่ตรงไหนก็ได้เสมอไป
โซนที่ต้องใกล้ชิดกับศิลปินจริงๆ เช่น ห้องแต่งตัว หรือบนเวที จะต้องมีบัตรหรือริสแบนด์พิเศษที่ออกให้โดยทีมงานของศิลปิน โดยจำกัดจำนวนเท่าที่จำเป็นเท่านั้น
- การถ่ายรูปศิลปิน ห้ามถ่ายรูปศิลปิน (นอกจากศิลปินเรียกมาถ่ายด้วย) หรือถ้าถ่ายภาพกว้างจากงานได้ ก็ห้ามโพสต์ลงในสื่อโซเชี่ยลทันที ต้องลงรูปหลังจบงานเท่านั้น