ชอบมีคนถามว่า ไฟสวยทำไง?

ผมก็มักตอบไปว่า "ก็ทำตามที่สบายใจเหอะ"
ไม่ได้กวน แต่มันเป็นอย่างนั้น คุณทำแล้วชอบนั่นก็คือสวยในแบบของคุณ แต่มันอาจไม่สวยในมุมมองของคนอื่น ก็ช่างเขาประไร มันก็เหมือนกับคุณชอบกินส้มตำปูปลาร้า แต่คนอื่นอาจชอบตำไทย

แต่ถ้าเป็นงานที่ลูกค้ามาจ้างคุณทำ คุณจะทำตามใจคุณชอบไม่ได้แล้ว คุณต้องทำตามที่ลูกค้าชอบ ลูกค้าถึงจะจ่ายเงิน มันก็เหมือนคุณเป็นแม่ค้าส้มตำ แม้ตัวแม่ค้าจะชอบกินตำปูปลาร้า แต่ถ้าลูกค้าอยากกินตำไทยคุณก็ต้องทำตำไทยให้ลูกค้ากิน แม้คุณจะไม่ชอบกินตำไทยก็ตาม

แม่ค้าส้มตำที่ดีต้องปรุงรสตามใจลูกค้า และไม่ควรนินทาลูกค้าว่าไร้รสนิยมที่ไม่ยอมกินปูปลาร้า

แต่ถ้าแม่ค้าอยากจะภูมิใจนำเสนอตำปูปลาร้า ก็ต้องมีวิธีโน้มน้าว หว่านล้อม ชักจูง ใช้กลอุบายเพื่อให้ลูกค้าได้ลอง บางทีลูกค้าได้ลองแล้วชอบก็คือแม่ค้าเก่งไงที่นำเสนอจนลูกค้าเปลี่ยนใจหันมากินตำปูปลาร้าสำเร็จ แต่บางทีลูกค้าลองชิมแล้วก็ยังยืนยันว่าไม่ชอบ แม่ค้าที่ดีก็ควรปรุงตำไทยตามสูตรที่ลูกค้าเขาชอบ อย่าไปหาว่าเขาไร้รสนิยม เรื่องของส้มตำเป็นอย่างไร เรื่องของคนทำไฟก็เป็นอย่างนั้น !!

แม้ว่าความสวยงามของไฟเป็นเรื่องของรสนิยม แต่ก็มีหลักในการ “ปรุงไฟ” เหมือนกัน ไม่ใช่พอบอกว่ามันเป็นรสนิยมแล้วจะทำอะไรแบบไหนก็ได้

หลักในการ “ปรุง” ให้ไฟสวยแบบมีรสนิยมที่ดูดีมีอยู่ 5 อย่าง
1. ใช้ความสว่างให้เหมาะสมกับการแสดงในช่วงเวลานั้นๆ ( intensity )
2. เลือกใช้สีและลวดลายโกโบ้ให้เหมาะสม ( color & gobo )
3. เลือกทิศทางของไฟที่ส่องมา ให้เหมาะสม ( direction )
4. มีจังหวะหรือคิวในการเล่นไฟ ที่เหมาะสม ( cue )
5. ลีลาในการเล่นไฟ การเคลื่อนไหวของแสงไฟ ที่เหมาะสม ( movement )
ทั้งหมดนี้เป็นองค์ประกอบที่จะทำให้งานแสงของเราสวยงามแบบมีรสนิยมที่ดี

แต่การที่จะทำให้ได้ทั้งห้าอย่างนั้น จำเป็นต้องมีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมไฟให้ได้ตามที่เราต้องการ ซึ่งก็คือ บอร์ดคอนโทรลไฟ
บอร์ดคอนโทรลไฟที่ดีจะช่วยให้เราสร้างซีนไฟ โปรแกรมซีนไฟ และแก้ไขซีนไฟได้ง่ายและรวดเร็ว ซึ่งคำว่า ”ง่ายและรวดเร็ว” นี้จะเป็นเรื่องสำคัญในการที่จะช่วยให้เราทำงานตอบสนองต่อการแสดง ต่อตัวลูกค้าและต่อจินตนาการของเราได้ โดยไม่ทำให้เราและลูกค้าหงุดหงิด บอร์ดคอนโทรลไฟที่ทรงประสิทธิภาพแบบนี้มักมีการใช้งานที่สลับซับซ้อน เพราะมีฟังก์ชั่นและชุดคำสั่งมากมายเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งาน เช่น
หน้าจอเป็นระบบสัมผัส , มีชุดคำสั่งสำเร็จรูปสำหรับทำโปรแกรมเอฟเฟ็คส์มากมาย , สามารถแก้ไขซีนไฟหรือเข้าไปต่อเติมเสริมแต่งซีนไฟได้สะดวก , สามารถจัดวางหน้า layout แบบไฟ (ซึ่งเลียนแบบมาจากการทำ magic sheet)ให้เหมาะกับการทำโปรแกรมได้เร็วขึ้น , สามารถรองรับระบบ network ฯลฯ
ความซับซ้อนของชุดคำสั่งที่เพิ่มขึ้นมากมาย ทำให้คนทั่วไปรู้สึกยากในการใช้งานกับมัน
แต่หากได้พยายามศึกษา เรียนรู้และฝึกฝนให้เกิดความชำนาญดีแล้ว ...ก็เหมือนทหารที่ได้ปืนดีไปออกรบ