จาก Superman สู่ Spiderman: เบื้องหลังศิลปะแห่งการแขวนของหนักในโลกบันเทิง

เขียนโดย – พาร์ละเล่น 

     เคยดูหนัง Superman บินผ่านอากาศแล้วคิดว่า “เท่มาก!” หรือเปล่า? หรือตอนดู Spiderman โหนใยแมงมุมระหว่างตึก แล้วนึกสงสัยว่า “ทำไมใยมันแข็งแรงจังวะ?” แต่รู้มั้ยว่าในโลกของคอนเสิร์ตและการแสดงใหญ่ๆ จะมีกลุ่มคนที่ทำงานเหมือนซูเปอร์ฮีโร่จริงๆ แต่แทนที่จะโหนตัวด้วยใยแมงมุม พวกเขาโรยตัวด้วยเชือกเพื่อแขวนโครงสร้างไฟที่หนักเกือบตัน! และพลังพิเศษของพวกเขานั่นคือใช้ความรู้ทางฟิสิกส์บวกกับประสบการณ์จากการทำงานมาหลายปี พวกเขาคือกลุ่มอาชีพ Entertainment Rigger ผู้อยู่เบื้อหลังศิลปะของงานแสดง ด้วยการใช้ความรู้ด้านการแขวนโครงสร้าง ที่มาพร้อมกับความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ว่าของหนักทุกอย่างจะถูกแขวนบนอากาศอย่างปลอดภัย และที่สำคัญคือไม่หล่นใส่หัวศิลปิน ทีมงาน และผู้ชม! 

การออกแบบเวที: เหมือนเล่นเลโก้ แต่ผิดพลาดแล้วคือจบ 

     การออกแบบเวทีคอนเสิร์ตไม่ใช่แค่งานศิลปะ แต่ต้องคำนึงถึงหลายส่วนประกอบ ตั้งแต่โครงสร้างเวทีที่ต้องแข็งแรงพอที่จะรับน้ำหนักศิลปิน นักแสดง และอุปกรณ์ประกอบฉาก หรือระบบแสงที่ต้องส่องให้เห็นศิลปินและสื่ออารมณ์ของการแสดงผ่านทิศทางและสี ระบบเสียงที่ต้องดังพอให้ทุกคนได้ยินแต่ไม่ดังจนหูแตกและได้ยินทุกลูกทุกเม็ดของโน๊ตดนตรี และระบบภาพที่ต้องคมชัดเพื่อให้เห็นศิลปินและ CG ที่มาเติมเต็มให้การแสดงสมบูรณ์แบบ แต่ที่สำคัญที่สุดคือระบบความปลอดภัยที่ติดตั้งอย่างมั่นใจว่าทุกสิ่งจะไม่พังทลายลงมา 

การออกแบบเวที: เหมือนเล่นเลโก้ แต่ผิดพลาดแล้วคือจบ 

คุณเคยไปดูคอนเสิร์ตแล้วสงสัยมั้ยว่าทำไมไฟทุกดวงถึงแขวนอยู่บนอากาศ? คำตอบง่ายๆ คือถ้าเอาไฟทุกดวงวางบนพื้น คนดูจะได้เห็นกลุ่มก้อนดำๆที่หมุนได้แทนที่จะเห็นโชว์ศิลปิน! 

การแขวนมีประโยชน์หลายอย่าง อย่างแรกคือการใช้พื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ แทนที่จะใช้พื้นดิน เราใช้พื้นที่เหนือหัวที่ไม่มีใครยืนอยู่ อย่างที่สองคือฟังก์ชั่นของแสงและเสียงที่ดีกว่า และสุดท้ายคือความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยน  

โหลดตัวร้ายที่มองไม่เห็น แต่อันตรายสุดๆ 

     ในโลกของวิศวกรรม “โหลด” ไม่ใช่การโหลดข้อมูลหรือโหลดเกมในมือถือ แต่หมายถึงภาระน้ำหนักที่โครงสร้างต้องรับ ซึ่งรวมถึงน้ำหนักจากระบบแสงที่อาจหนักเท่ากับช้าง ระบบเสียงที่หนักเท่ารถเก๋ง และระบบภาพที่หนักเท่ารถบรรทุก 

สิ่งที่ทำให้การคำนวณโหลดซับซ้อนคือเราต้องคิดทั้ง โหลดคงที่ (Dead Load) ที่หมายถึงน้ำหนักของตัวอุปกรณ์เอง และ โหลดแปรผัน (Live Load) ที่หมายถึงน้ำหนักที่เปลี่ยนแปลงได้ เช่น คนที่ขึ้นไปซ่อม หรือลมที่พัดแรง  

อุปกรณ์แขวน: เครื่องมือของซูเปอร์ฮีโร่ตัวจริง

     ถ้า Batman มี Utility Belt ที่เต็มไปด้วยแกดเจ็ต Rigger ก็จะมีเครื่องมือที่เต็มไปด้วยอุปกรณ์แขวนที่แต่ละชิ้นมีชีวิตคนที่อยู่ข้างใต้เป็นเดิมพัน อุปกรณ์การแขวน ประกอบด้วย 

     1.  สะเก็น (Shackle) ตัวเชื่อมที่เหมือนกับตัวต่อเลโก้ แต่ทำจากเหล็กแกร่งและสามารถรับน้ำหนักได้หลายตัน เจ้าตัวเล็กๆ นี้เป็นตัวเชื่อมระหว่างลวดสลิงกับโครงสร้าง ถ้าเลือกผิดชนิดหรือใช้ผิดวิธี อาจจะกลายเป็นจุดล้มเหลวที่ทำให้ทุกอย่างพังได้ โดยสะเก็นแบบธรรมดาคือ D-Shackle สำหรับรับแรงแนวดิ่งเท่านั้น และโอเมก้าคือ Bow Shackle สามารถรับแรงแนวทแยงมุมได้ 

     2. สลิงลวด (Wire Rope) ลวดเหล็กที่ถักจากลวดเล็กๆหลายร้อยเส้น แต่ละเส้นอาจจะบางเท่าเส้นผม แต่เมื่อรวมกันแล้วสามารถรับน้ำหนักได้หลายตัน การเลือกลวดสลิงต้องดูทั้งขนาด วัสดุ และโครงสร้างการถัก เพราะแต่ละแบบจะมีจุดแข็งจุดอ่อนที่ต่างกัน

     3. รอกไฟฟ้า (Hoist)เครื่องจักรที่ช่วยยกของหนักลอยขึ้นไปในที่สูงเหมือนกับการมียักษ์อยู่ในกล่องเล็กๆ รอกที่ดีต้องมีระบบเบรกสองชั้น(Double break)ที่เชื่อถือได้ ระบบควบคุมที่แม่นยำและที่สำคัญคือต้องมีระบบป้องกันเมื่อใช้งานเกินขีดจำกัด

     4. Rigging Hardware เช่น Round sling, Clamp, Spreader Bar ซึ่งแต่ละชิ้นมีหน้าที่เฉพาะเจาะจง เหมือนกับเครื่องมือของหมอที่แต่ละชิ้นออกแบบมาเพื่องานเฉพาะ

สิ่งที่ควรระวังเมื่อความผิดพลาดเล็กๆ กลายเป็นภัยร้ายแรง  

     ความผิดพลาดในงานแขวนไม่ใช่แค่ทำให้โชว์ไม่สวย แต่อาจจะทำให้คนบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ข้อผิดพลาดที่พบบ่อยที่สุดคือ การคำนวณโหลดผิด การคำนวณน้ำหนักรวมของรอกผิด หรือการใส่ค่า Reaction ของรอกไม่ครบถ้วน ทำให้น้ำหนักที่ไปกดจุดแขวนของอาคารเกิน Capacity ที่รับได้ 

ข้อผิดพลาดที่สองคือ การตรวจสอบอุปกรณ์ไม่ละเอียด การฝืนใช้สลิงลวดเหล็กที่มีสภาพปริแตกชำรุด หรือ Round sling ที่มีรอยฉีกขาด เพราะฉะนั้นการตรวจสอบอุปกรณ์จึงต้องทำอย่างละเอียดและสม่ำเสมอ 

การใช้อุปกรณ์ผิดจุดประสงค์ เป็นอีกข้อผิดพลาดที่อันตราย เช่น การใช้สะเก็นที่ออกแบบมาสำหรับโหลดแนวตั้งมาใช้รับแรงแนวข้าง หรือ การใช้อุปกรณ์ที่เกินพิกัดเพราะขาดการคำนวณที่ดี 

ความรุนแรงของความเสียหายเมื่อมีการล้มเหลวจะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย สมมติถ้าเป็นโคมไฟเล็กๆหล่นลงมา อาจจะทำให้คนเจ็บ แต่ถ้าเป็นระบบเสียงหนักหลายตันที่หล่นลงมา ผลกระทบที่ตามมาอาจจะรุนแรงมากจนถึงขั้นมีคนเสียชีวิต 

ศิลปะแห่งการแขวนที่ต้องใช้ทั้งหัวใจและสมอง 

Arena Rigging คือการผสมผสานระหว่างศิลปกรรมศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ในเบื้อหลังโลกบันเทิง เหมือนกับซูเปอร์ฮีโร่ที่ต้องใช้ทั้งพลังใจและสติปัญญา ไม่ใช่แค่การแขวนสิ่งของขึ้นไปบนอากาศ แต่เป็นการรับประกันความปลอดภัยของทุกคนที่อยู่งานแสดง จำไว้ว่าความรู้และประสบการณ์คือสิ่งสำคัญที่สุด เพราะในความผิดพลาดเล็กๆอาจจะส่งผลใหญ่โต แต่เมื่อทำถูกต้องแล้ว คุณจะได้รู้สึกเหมือนเป็นซูเปอร์ฮีโร่ที่ช่วยให้การแสดงที่ยิ่งใหญ่เกิดขึ้นได้อย่างปลอดภัยที่ทำให้ผู้ชมได้รับประสบการณ์ที่ดีและไม่มีวันลืม  

#rigging #การแขวนรอก #EntertainmentRigger #StageLighting  

#Lightingsystem  #lightsource #Lightsource_th