ส่องมาตรฐาน EVENT PRODUCTION ไทย ในงาน MICE ระดับสากล… เราอยู่ตรงไหน ??

by

คำว่า “สากล” ขอสโคปไปที่มาตรฐานของประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ยุโรป หรือ สหรัฐอเมริกา บอกเล่าจากประสบการณ์ของไลท์ซอร์ส ในการทำงานไมซ์ระดับโลกที่ประเทศไทยเพิ่งเป็นเจ้าภาพจัดงานไปเมื่อไม่นานมานี้

คนส่วนใหญ่มักจะมองเห็นภาพงานอีเว้นท์ตอนที่เสร็จสมบูณ์แล้ว เมื่อ Event Production Facilities ระบบแสง เสียง ภาพต่างๆ เรียบร้อยสวยงาม ทำงานตามที่ควรจะเป็น

เหนือชิ้นงานฉากศิลปะไทยร่วมสมัยขนาดใหญ่ สื่อถึงการเป็นเจ้าภาพของประเทศไทย ลอยเด่นกลางห้องประชุมคองเกรสที่มีผู้เข้าร่วมงานระดับ VVIP ในวงการลูกหนังจากทั่วโลก เต็มไปด้วยการติดตั้งโครงสร้างทรัส และระบบแสงเสียงภาพ มองเผินๆ อาจจะดูเรียบๆธรรมดา แต่มีความซับซ้อนเชิงระบบและเบื้องหลังในการเตรียมงานมากมาย ยิ่งเป็นงานอีเว้นท์ขององค์กรระดับโลกแล้ว มาตรฐานการทำงานของเขาต่อประเทศที่รับเป็นเจ้าภาพจัดงานย่อมไม่ธรรมดา

บริษัทต่างประเทศ ซึ่งเป็นคอนแทรคเตอร์ ด้าน Event Technical ที่ชนะการประมูลงานนี้ ( จะกล่าวถึงเฉพาะส่วนที่เป็น AV/L หรือแสงเสียงภาพ ใน Congress เท่านั้น ) ได้ว่าจ้างบริษัท อีเว้นท์ โปรดักชั่นไทยเป็น Local Supplier มาซัพพอร์ตเรื่องอุปกรณ์และการติดตั้ง

 

แม่งานหลักฝั่งไทยในครั้งนี้คือ Creative Rock ซึ่งมีจุดแข็งด้าน Event Technology คอยเคลียร์โปรดักชั่นองค์รวมทั้งหมด รวมทั้งระบบภาพ Mr. Team ดูแลระบบเสียง ส่วน LightSource รับผิดชอบระบบแสงและโครงสร้างตลอดจนอุปกรณ์ต่างๆที่ต้องแขวนทั้งหมด

สิ่งที่บริษัทผู้ว่าจ้างจากต่างแดนของเราเน้นเป็นพิเศษก็คือเรื่อง “ความปลอดภัยในการทำงาน” ทั้งนี้บริษัทผู้ว่าจ้าง เป็นบริษัทที่ทำงานภายใต้มาตรฐาน EU OSHA ( The Occupational Safety and Health Administration ) หรือคณะกรรมการบริหารงานความปลอดภัยและสุขภาพอนามัย การประกอบอาชีพของยุโรป

ภาพรวมในการทำงานที่น่าสนใจ

14 ชั่วโมงต่อวัน คือชั่วโมงการทำงานที่คนทำงานแต่ละคนทำได้สูงสุด แม้ว่างานนี้เป็นการประชุมเพียงครึ่งวัน แต่ได้ให้เวลาในการ
เซ็ตอัพและซ้อม เกือบ 2 อาทิตย์ ส่วนหนึ่งเพราะมีข้อกำหนดความปลอดภัยในการทำงานดังกล่าว

เปิดแอร์ตั้งแต่ย่างเท้าเข้าเซ็ตอัพ เป็นสิ่งที่เจ้าของงานสั่งการหลังจากแวะเข้ามาดูก่อนเริ่มโหลดของเข้างาน และพบว่าอุณหภูมิในห้องร้อนเกินไป “THIS IS NOT A WORKING ENVIRONMENT”

การแขวนโครงสร้างต่างๆ หรืออุปกรณ์ แสง เสียง ภาพ ที่อยู่เหนือศีรษะของผู้เข้าร่วมประชุม ( rigging ) จะต้องถูกคำนวณโดยอ้างอิงจากน้ำหนักอุปกรณ์ทุกชิ้น อย่างแม่นยำ ทุกอย่างจบบนแบบแปลนที่แสดงวิธีการแขวนอย่างละเอียด ประกอบตารางแสดงน้ำหนักที่กระทำต่อจุดแขวนแต่ละจุด ( kN/point ) มีการปรับแบบหลายครั้งเพื่อให้ไม่เกินลิมิตจุดแขวนของห้องจัดงาน ซึ่งจะต้องให้วิศวกรของสถานที่เป็นผู้ตรวจอนุมัติ ก่อนเข้าเซ็ตงาน

รอกไฟฟ้า

กติกาสากลเกี่ยวกับการใช้รอกไฟฟ้าสำหรับการแขวนทรัสหรือโครงสร้างต่างๆในงานอีเว้นท์และเอนเตอร์เทนเม้นท์ คือรอกทุกตัวจะต้องถูกตรวจสอบสภาพจากผู้ชำนาญการทุก 1 ปี โดยใช้เครื่องมือเฉพาะ ที่ใช้ทดสอบการรับน้ำหนักแรงดีงที่ได้มาตรฐาน ( ต้องระบุรุ่นและยี่ห้อของเครื่องมือดังกล่าว ) โดยมีการตรวจสอบหลักๆในแง่ของ ความสามารถในการยกและรับน้ำหนักตามสเปคที่รอกระบุไว้ ตรวจสอบความสมบูณ์ของโซ่ ขอเกี่ยว เบรค ตัวหยุดโซ่ และความสมบูรณ์อื่นๆ

ที่ไลท์ซอร์ส แม้จะมีการตรวจสอบรอกของเราทุกปี แต่เอกสารใบเซอร์ที่เราออกเอง ยังขาดหน่วยงานของภาครัฐหรือภาคอุตสาหกรรมไมซ์ไทย มาเป็นเจ้าภาพทั้งในแง่การกำหนดมาตรฐาน และการออกเอกสารรับรอง งานนี้ลูกค้าผู้ว่าจ้างจึงต้องมา inspect วิธีการทดสอบรอกของเราด้วยตัวเองที่บริษัท

ถึงเวลาหรือยังที่เราจะต้องกำหนดให้การตรวจจสอบรอกไฟฟ้าที่ใช้ในงานคอนเสิร์ตอีเว้นท์ คอนเสิร์ต เป็น 1 ในมาตรฐานความปลอดภัยของ MICE THAILAND

 

หมายเหตุ รอกไฟฟ้าที่ใช้ทั้งหมดในงานนี้เป็นรอกแบบ Double-Brake ชึ่งเป็นมาตรฐานปัจจุบันของรอกเอนเตอร์เทนเม้นท์ ในยุโรปและอเมริกา

Accessories และเครื่องมือต่างๆในงานแขวนโครงสร้าง

เช่นเดียวกับรอก อุปกรณ์ประกอบการแขวนยึดโครงสร้างต่างๆเช่น
สแปนเซ็ต สลิงเซฟตี้โคมไฟก็สำคัญไม่แพ้กัน หลักการณ์คือ เป็นอุปกรณ์จากแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้ บอกโหลดรับน้ำหนักที่ชัดเจน ผ่านการทดสอบมาตรฐานการผลิต TUV – Technical Inspection Association ทั้งนี้เรายังได้เรียนรู้ว่าที่เราใช้กันทั่วไปในบ้านเรานั้น มีหลายอย่างที่ยังไม่ถึงมาตรฐานของยุโรป เช่น

– สแปนเซ็ตที่ใช้หิ้วยกทรัส ไม่สามารถใช้แบบโพลีอีสเตอร์ธรรมดาได้ แต่จะต้องเป็นชนิดที่มีใส้ข้างในเป็นเส้นลวดสลิง ( Steel Flex Spanset ) เพื่อป้องกันกรณีเกิดเปลวไฟ หรืออัคคีภัยที่จะไหม้สแปนเซ็ตจนขาดได้

– Chainlink คลิปล็อคของเส้นสลิงที่ใช้เซฟโคมไฟ หรืออุปกรณ์แสงเสียงภาพใดๆกับทรัส จะต้องเป็นแบบที่มีสกรูหมุนล็อคคลิปเท่านั้น แบบที่เป็นเกทคลิปแบบเปลือยไม่สามารถใช้ได้ ไม่เช่นนั้น อุปกรณ์ 1 ชิ้น จะต้องใช้สลิงเซฟ 2 ชุดเพื่อ Back Up

– เครื่องจักรต่างๆที่นำมาช่วยในการติดตั้ง
จะต้องมีเอกสารระบุสเปค รุ่น ยี่ห้อ และวันเวลาที่ได้มีการตรวจเช็คซ่อมบำรุงมาไม่น้อยกว่า 1 ปี ในงานนี้ มีการใช้งานรถ x-lift เพื่อใช้ในการขึ้นไปแขวนรอกกับคานหลังคาของห้องจัดงาน

 

Certified, Please !!

เราจะทำงานกันแบบเซอร์ๆ อินดี้ไม่ได้ เพราะทุกอย่างต้องมีใบเซอร์

เริ่มกันด้วย

บริษัทที่จะทำงานนี้ จะต้องมี PUBLIC LIABILITY INSURANCE หรือ การประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก ที่ให้ความคุ้มครองแก่ผู้เอาประกันภัย และความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอกสำหรับการบาดเจ็บทางร่างกายหรือเสียชีวิต และ/หรือความเสียหายต่อทรัพย์สิน ในวงเงินที่เหมาะสม จะต้องมีกรมธรรม์แสดงเป็นหลักฐาน พร้อมยื่นรายชื่อผู้เข้าทำงานและเอกสารรับรองว่าหากเกิดอุบัติเหตุในการทำงานขึ้น บริษัทต้นสังกัดของพนักงานจะเป็นผู้รับผิดชอบเอง

ใบเซอร์ต่างๆของพนักงานติดตั้งที่เข้าทำงาน อาทิ

– การใช้Harness หรือชุดเซฟตี้สำหรับปีนหรือการทำงานในที่สูง ซึ่งถ้าพูดกันตรงๆ เราไม่ได้มีครบทุกคนเพราะสอนกันเองรุ่นสู่รุ่น จากรุ่นพี่ที่เคยเรียนและมีใบเซอร์ เพราะงานปีนป่ายที่สูงของเรามีลักษณะเฉพาะที่ต้องปรับจากหลักสูตรปีนเขาและการทำงานที่สูงทั่วไป

– Rigging for Entertainment Industry การผ่านการอบรมเรื่องงานแขวนโครงสร้างสำหรับอุตสาหกรรมบันเทิง ซึ่งเราเคยได้เชิญบริษัทชั้นนำทางด้านนี้จากประเทศอังกฤษ มาทำเวิร์คชอปที่บริษัท พนักงานระดับหัวหน้างานของเราจึงได้ประกาศนียบัตรนี้

– การควบคุมเครื่องจักรขับเคลื่อนต่างๆ ที่ใช้ในงานติดตั้ง เช่น Scissor Lift / X-Lift และ Boom Lift ถึงแม้ว่าพนักงานของเราหลายคนจะขับเป็นอยู่แล้ว แต่ก็ยังต้องส่งไปเรียนเพื่อให้ได้ใบเซอร์จากบริษัทที่มีใบอนุญาติฝึกอบรมก่อนเข้างาน

จากทั้งหมดที่กล่าวมานั้น เบื้องหลังความ ”เข้มข้น” ของฝรั่งผู้ควบคุมงาน วิถีการทำงานของทีม Production ระดับโลกล้วนแต่พุ่งเป้าไปที่ความปลอดภัยและการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมแก่คนทำงานมากที่สุดเป็นหลัก

 

ทุกขั้นตอนการ Pre-Production ที่ละเอียดถี่ถ้วน ก็เพื่อป้องกันการสื่อสารที่ผิดพลาดทำให้คนทำงานต้องเสียเวลา เสียอารมณ์ เสียต้นทุนเพิ่ม และทุกความเข้มงวดทั้งด้านเอกสารรับรองและด้านการปฏิบัติงาน ก็เพื่อต้องการคัดกรองบุคลากรที่มีความพร้อมสูงสุด เกิดความผิดพลาดไม่ว่าจะเป็นชีวิตและทรัพย์สินน้อยที่สุดเช่นกัน

 

กลับมาตอบคำถามที่ว่า มาตรฐาน Event Production ไทย เราอยู่ตรงไหนในมาตรฐานสากล เป็นเรื่องที่อยากทิ้งไว้ให้ถามตัวเอง มีส่วนไหนที่เรายังต้องปรับปรุง และช่วยกันผลักดันให้อุตสาหกรรม MICE ของไทยพัฒนาต่อไปในอนาคต

 

หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการทำงาน อีเว้นท์
โปรดักชั่น ทั้งในแง่ของมาตรฐานอุปกรณ์ในงานติดตั้งแสง เสียง ภาพ และเรื่องของการทำงานของบุคคลากรในวงการของเรา