คนทำงานโรงละครและนักแสดงบางครั้งก็เจอกับสถานการณ์แปลกๆชวนขนหัวลุก จึงมักเชื่อถือเรื่องโชคลางและไสยศาสตร์ และมีเรื่องเล่า ความเชื่อ การปรากฏตัวของผี และตำนานเกี่ยวกับโรงละครมากมายยังไม่มีข้อพิสูจน์ เราลองมาอ่านและช่วยกันวิเคราะห์ความเชื่อเหล่านี้กัน


1. แทนคำว่าโชคดี ด้วยคำว่า “ขอให้ขาหัก”

“Break a leg” แปลตรงๆได้ว่า “ขอให้ขาหัก” เดิมเป็นคำอวยพรที่ถูกใช้โดยผู้คนที่ทำงานในโรงละคร และต่อมาก็ใช้กันทั่วไปกับคนที่ทำงานสายการแสดงต่างๆ หมายถึง โชคดีนะ ขอให้เป็นโชว์ที่เยี่ยมไปเลย ที่มาของวลีนี้ มีอยู่หลายทฤษฎี เช่น ในโรงละคร การอวยพรว่าโชคดี ถือเป็นลางร้าย เพราะวิญญาณร้ายไม่ปลื้มและจะคอยแกล้ง เลยต้องหลอกผีกลับ ด้วยคำที่มีความหมายตรงกันข้าม บ้างก็ว่า มาจากสมัยกรีกโบราณที่ผู้ชมแสดงความพอใจด้วยการกระทืบเท้าแทนการปรบมือ แล้วโชว์ต้องดีเบอร์ไหน ผู้ชมถึงจะกระทืบเท้าจนขาหัก หรืออาจมาจากในยุคเชคเสปียร์ to break a leg หมายถึงโค้งคำนับต่อผู้ชมในท่าคุกเข่าลงข้างนึงในช่วง curtain call ประมาณว่าผู้ชมปรบมือกันยาว นักแสดงโค้งแล้วโค้งอีกจนต้องจบด้วยการขอบคุณในท่านี้ อีกทฤษฎีคือ คำว่า Break the leg หมายถึงการให้สัญญาณนักแสดงออกไปบนเวที “Leg“ คำนี้ คือแนวผ้าม่านด้านข้างเวทีที่นักแสดงหลบแสตนบายรอคิว การที่ได้ออกไปบนแสดงบนเวทีนอก Leg นี้ หมายถึงวันนั้นนักแสดงมีได้แสดง และได้รับเงินค่าจ้าง

เคดิตภาพ : featureshoot


2. “Ghost Light” หรือ “แสงผี” แสงสว่างในโรงละครที่ว่างเปล่า

Ghost Light คือการให้หลอดไฟดวงหนึ่งสว่างในยามที่โรงละครว่างเปล่า โดยนัยทางไสยศาสตร์ Ghost Light มีเพื่อปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายบนเวที ซึ่งอาจจะดูเป็นความเชื่อที่งมงาย แต่เป็นกุศโลบายที่มีเหตุผล เพราะบริเวณหลังเวทีโรงละครมักจะเต็มไปด้วยอุปกรณ์ประกอบฉาก และเครื่องแต่งกาย ดังนั้นผู้ที่เข้าไปในพื้นที่มืดสนิทมักจะได้รับบาดเจ็บขณะตามล่าหาสวิตช์ไฟ เป็นการป้องกันไม่ให้คนสะดุดหรือชนข้าวของขณะที่ต้องเดินเข้าไปในเวทีในความมืด


Credit : Joshua Reynolds (1723- 1792)



3. การพูดคำว่า “Macbeth" จะนำความหายนะมาสู่โรงละคร

เป็นที่เชื่อกันว่าการกล่าวถึงบทละคร Macbeth ของ William Shakespeare นี้ด้วยชื่อหรือแม้แต่การพูดยกประโยคมาจากบท จะนำหายนะมาสู่โรงละคร สิ่งนี้ เกิดขึ้นหลังจากอุบัติเหตุประหลาดระหว่างการแสดงละครเวทีของเช็คสปียร์ปี 1606 นักแสดงที่เล่นเป็น Lady Macbeth เสียชีวิตกะทันหัน โดยหลายคนเชื่อว่าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น เป็นผลมาจากคำสาปในตอน "บทเพลงแห่งแม่มด" ซึ่งว่ากันว่าเช็คสเปียร์นำมาจากคาถาของแม่มดจริงๆในยุคนั้น ตามตำนานแม่มดสาปแช่งเขาที่เอาเวทมนตร์ของเธอมาใช้ วิธีแก้คำสาปเมื่อเผลอพูดคำว่า “Macbeth" คือ บุคคลนั้นจะต้องออกจากอาคารโรงละคร ถ่มน้ำลาย สาปแช่ง และหมุน 3 รอบ ก่อนที่จะขออนุญาตกลับเข้าไป

4. การซ้อมใหญ่ที่แย่จะนำไปสู่การแสดงจริงที่ดี

การซ้อมใหญ่ หรือ Dress Rehearsal เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการซ้อมที่นักแสดงสวมเครื่องแต่งกาย และใช้พร็อบจริง เป็นที่เชื่อกันว่า

“การซ้อมครั้งสุดท้ายที่ไม่ดีเป็นสัญญาณของการแสดงรอบปฐมทัศน์ที่ดี เพราะหากมีเรื่องที่ไม่เป็นไปตามแผนหรือมีเรื่องที่นักแสดงและทีมงานเป็นกังวล ทุกคนจะนำข้อผิดพลาดจากการซ้อมไปปรับปรุงแก้ไข”

5. ขนนกยูง, กระจก, เงินจริง, หรือเครื่องประดับของจริง เป็นสิ่งต้องห้ามบนเวที

สิ่งของเหล่านี้กล่าวกันว่าจะทำให้เกิดหายนะในการแสดง ที่ปลายขนนกยูงจะมีลวดลายที่ดูเหมือนดวงตาปีศาจอยู่ ซึ่งตาชั่วร้ายนี้จะคอยสาปแช่งการแสดงบนเวที กระจกจะสะท้อนความโชคร้าย และรบกวนแสงบนเวที ส่วนการห้ามใช้เงินและเครื่องประดับอัญญมณีแท้ เพราะยากต่อการดูแลและเป็นการป้องกันการถูกขโมย

6. ทำไมผิวปากในโรงละครถึงแปลว่าโชคร้าย

เดิมทีเรื่องนี้มาจากเรื่องความปลอดภัย ในช่วงยุคแรกๆ ของละครเวทีขนาดใหญ่ ทีมงานเบื้องหลังประกอบด้วยผู้ที่ควบคุมฉาก ผู้กำกับเวทีและผู้ช่วยต่างๆนั้นอยู่ไกลกันและวิธีการสื่อสารคือผ่านการผิวปากส่งสัญญาณ เสียงผิวปากจึงเป็นรหัสในการสื่อสาร ถ้าเกิดผู้ชมผิวปากระหว่างการแสดงอาจจะทำให้ผู้ดึงม่านหรือฉากเข้าใจผิดและปล่อยมันลงมาโดนนักแสดงได้

7.ห้ามใช้เครื่องสำอางใหม่เอี่ยมในคืนแรกของการแสดง มิฉะนั้นจะเกิดความผิดพลาดในวันแสดงจริง

กล่องยิ่งเก่า ยิ่งรก อัดแน่นด้วยลิปทาปาก แป้ง ดินสอ และแปรงยิ่งดี การใช้เรื่องสำอางชิ้นใหม่ที่ยังไม่เคยถูกทดลองใช้ในรอบปฐมทัศน์อาจเป็นหายนะ เพราะนักแสดงอาจจะแพ้ และจะแน่ใจได้อย่างไรว่าสีนั้นๆจะออกมาเป็นแบบที่ต้องการภายใต้แสงไฟ และช่างแต่งหน้าอาจไม่คุ้นชินมืออาจจะทำให้เกิดข้อผิดพลาดได้

8.ห้ามใส่ชุดสีน้ำเงินในโรงละคร

เชื่อกันว่าการสวมเสื้อผ้าสีน้ำเงินเป็นความโชคร้าย และจะทำให้นักแสดงลืมบท แต่ในความเป็นจริงคือ ในการแต่งกายของละครเวทีในยุคแรก สีน้ำเงินเป็นสีย้อมผ้าที่แพงที่สุด เสื้อผ้าสีน้ำเงินถูกจัดเป็นสิ่งหรูหรา โรงละครที่ล้มเหลวทางการเงินจะสวมเสื้อผ้าสีน้ำเงินเพื่อหลอกผู้ชมว่าประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ตามในปัจจุบันความเชื่อในเรื่องนี้ไม่ค่อยถูกพูดถึงแล้ว เพราะเสื้อผ้าและสีถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการเล่าเรื่อง

9.วิธีแปลกๆที่ใช้ปัดเป่าอุปสรรคที่เกิดขึ้นบนเวที

หากเครื่องแต่งกายของนักแสดงติดหรือสะดุดเข้ากับฉากขณะแสดง นักแสดงจะต้องย้อนรอยเท้าของตัวเองทันทีและสร้างทางเดินใหม่ มิฉะนั้นจะประสบความโชคร้ายทุกประเภทระหว่างการแสดงที่เหลือ

“ ในบริบทของยุคสมัยก่อน เรื่องเหนือธรรมชาติ, โชคลาง และไสยศาสตร์มักถูกใช้เป็นกลไกที่คอยเตือนผู้คนให้อยู่ในกฎเกณฑ์ ความเชื่อสิ่งที่ปลูกฝังกันมา อาจมีสาเหตุหลักจากเรื่องความปลอดภัยในโรงละคร ผีหรือเรื่องเล่าอาจจะถูกใช้เป็นกุศโลบายให้นักแสดงหรือคนทำงานเบื้องหลัง ระมัดระวังไม่ให้เกิดอุบัติเหตุในระหว่างหรือก่อนการแสดง ”
ในยุคปัจจุบันเมื่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สามารถหาคำตอบให้กับหลายๆเรื่อง และทำให้ความเชื่อบางอย่างเลือนลางไป แต่บางอย่างยังคงอยู่เป็นสเน่ห์ของการทำงานสายการแสดง เช่น การใช้คำว่า ขอให้ขาหัก แทนคำว่า โชคดีนะ

และไม่ว่าวันนี้คุณจะทำงานอยู่ที่ไหน Let’s Break a Leg นะ ทุกคน

credit source แปลจาก ( เรื่องมาจาก BY KC WRIGHT )