แสงไฟกับงานอีเว้นท์เป็นสิ่งที่อยู่คู่กัน และมีส่วนสำคัญอย่างมากที่จะทำให้เกิดความประทับใจและผลตอบรับที่ดีจากผู้เข้าร่วมงาน

การจัดแสงในงานอีเว้นท์เป็นงานที่ต้องการการส่งเสริมภาพลักษณ์เป็นหลัก ซึ่งแตกต่างกับการจัดแสงสำหรับงานประเภทอื่นๆ วันนี้เราก็มี 7 ข้อควรรู้ในการจัดแสงงานอีเว้นท์มาฝากกัน เพื่อช่วยเสริมให้งานอีเว้นท์ของคุณออกมาสมบูรณ์แบบที่สุด


1. ออกแบบแสงต้องสอดคล้องกับภาพลักษณ์: การจัดแสงสำหรับงานอีเว้นท์ต้องคำนึงถึงรายละเอียดในเรื่องสี และลวดลายที่ใช้ให้สอดคล้องกับภาพลักษณ์ของแบรนด์และงานนั้นๆ ซึ่งไม่เพียงแต่มุมมองในเรื่องของการดีไซน์แสงเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการเลือกใช้อุปกรณ์ การแต่งกายทีมงานที่เหมาะสม ความเรียบร้อยของการเดินสายไฟหรือสายสัญญาณต่างๆ ภายในงานอีกด้วย



2. จับจุดไฮไลท์ให้ได้: ให้คิดว่าอีเว้นท์ คือการเล่าเรื่องของสินค้าผ่านคิวต่างๆในงาน เปรียบได้กับละครเวที่สั้นๆเรื่องนึง งานอีเว้นท์จะมีช่วงไฮไลท์ของงานอยู่ไม่มาก อาทิ ช่วงพิธีการ ช่วง speech ที่ speaker ต้องโดดเด่นจากฉากหลัง ช่วงไฮไลท์เปิดงานหรือเปิดตัวสินค้าที่มักมีการแสดงประกอบ ช่วงเอนเตอร์เทน ดนตรี ปาร์ตี้ ซึ่งแสงที่ดีควรให้สีสันที่ช่วยส่งเสริมและสร้างบรรยากาศให้ผู้ชมรู้สึกตื่นตื่นใจไปกับงาน หากมีงบประมาณเพียงพอ การเติมอุปกรณ์แสงที่สามารถสร้าง Scene สร้างสีสันเข้าไปในส่วนที่นั่งของผู้ร่วมงาน อาทิ การเติมโคม LED Par เพื่อส่องลงไปบนโต๊ะจัดเลี้ยง หรือเติม Moving Light สำหรับช่วงปาร์ตี้ ก็จะสามารถสร้างบรรยากาศให้ผู้ร่วมงานรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับเรื่องราวที่ถูกนำเสนอบนเวทีได้มากขึ้น การออกแบบแสงควรจับจุดเหล่านี้ให้ได้ ผู้ออกแบบแสงควรใช้ทักษะความชำนาญในการตีความแตกประเด็นรายละเอียดออกเป็น “Lighting cue” ให้ได้ชัดเจน เพื่อให้แสงช่วยเสริมภาพลักษณ์และเป็นที่จดจำของผู้ร่วมงาน



3. มี spare ไว้เสมอ: คิวต่างๆ ของงานอีเว้นท์มักเป็นคิวที่โชว์เพียงครั้งเดียว ดังนั้นหากผิดพลาดจะไม่มีโอกาสแก้ตัว ควรคิดไว้ว่า instrument error อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ทีมงานและนักออกแบบแสงที่ดีจึงควรเตรียมแผนสำรองไว้เสมอ โดยเฉพาะในคิวที่สำคัญมากๆ เช่น แสงส่องประธานหรือ VIP ในการกล่าว speech อย่ามั่นใจกับหลอดไฟตัวเองว่าจะไม่ดับ ไม่ขาด ควรต้องแขวนโคมไฟสำรองเผื่อไว้ และยังรวมไปถึงการทำซีนไฟสำรองเผื่อไว้ในกรณีที่มีคิวเหตุการณ์ฉุกเฉิน คิวแทรกด่วน คิวแสดงที่มีการเปลี่ยนแปลง เป็นต้น



4. แบ่งความสำคัญกับฝ่าย Visual ให้ดีว่า ใครจะเด่น: ในยุคที่จอ LED เข้ามามีบทบาทสำคัญ นักออกแบบแสงควรต้องคุยทำความตกลงกับแผนก Visual ให้ดีว่าจอ LED ควรตั้งค่าความสว่างเท่าไร จึงจะพอเหมาะกับความสว่างของซีนไฟ และช่วงใดที่จอภาพควรจะเด่น ช่วงใดที่ซีนไฟควรจะเด่น การที่ต่างคนต่างทำและเด่นแข่งกันไปหมด จะทำให้คุณค่าของช่วงไฮไลท์นั้นลดลง และยังทำให้การบาลานซ์แสงของกล้องบันทึกภาพในงานออกมาไม่พอดีอีกด้วย



5. อย่าลืมไฟส่องชื่องานหรือ Logo: ตอนรับบรีฟงานจากลูกค้า อย่าลืมถามลูกค้าว่ามีชื่องานหรือโลโก้อยู่ตรงไหนบ้าง นี่เป็นจุดสำคัญที่มักหลงลืมกัน และเมื่อต้องใช้ไฟส่องก็ต้องคำนึงถึงมุมสะท้อนแสงและ วัสดุที่ใช้ทำให้ดี เช่นป้าย inkjet ที่ทำด้วยไวนิลมักสะท้อนแสงจนทำให้ผู้ชมบางมุมดูไม่รู้เรื่อง และการจับภาพด้วยกล้องก็จะไม่ชัดด้วย ซึ่งวัสดุและพื้นผิวที่สะท้อนแสงหรือเป็นมันวาวในงานฉากนั้นยากต่อการย้อมแสงให้สวยงาม



6. ประธานหรือ VIP มักไม่ชอบแสงฟอลโลว์สปอต: เกือบ 100% ที่การขึ้นพูดบนเวทีจะประสบปัญหาแสบตากับแสงของไฟฟอลโลว์สปอต ดังนั้นควรเซ็ตไฟ special light ในเวลาที่ท่านต้องยืนพูดบนเวที โดยแขวนทำมุมให้เหมาะสมที่จะไม่แยงตามากเกินไป และต้องไม่ทำให้เกิดเงาบังสคริปต์ที่ต้องอ่านบนโพเดียมด้วย



7. “แสงช่วยหน่อย” ไม่ใช่คำตอบ หากงาน ฉากและเวทีไม่เรียบร้อย: หลายครั้งที่การตกแต่งสถานที่จัดงาน งานฉาก เวทีไม่เรียบร้อย เช่น ฉากไม้ไม่เรียบ ผ้ามีรอยยับ การขอให้ช่วยจัดแสงเพื่อพรางความไม่เรียบร้อยเหล่านั้น ถือเป็นความเข้าใจที่ผิดมาก แสงมีหน้าที่ไฮไลท์วัตถุให้โดดเด่น หากว่าฉากหรือ Decoration ต่างๆไม่เรียบร้อย การให้แสงส่องไป ยิ่งทำให้มองเห็นจุดบกพร่อง ในทางกลับกันหากฉากและการตกแต่งดูเนี้ยบและสวยงาม แสงยิ่งส่งให้บรรยากาศของงานดูงดงามมากยิ่งขึ้น